สวัสดีครับ วันนี้ผมจะเขียนบทความถึงในส่วนสำคัญส่วนแรกของบ้าน ซึ่งก็คือฐานรากนั่นเองครับ โดยจะเริ่มต้นที่การเตรียมฐานรากซึ่งขั้นตอนการหล่อฐานรากจะเป็นการหล่อฐานรากตามแบบเหมือนการก่อสร้างทั่วไป แต่ข้อแตกต่างจะอยู่ตรงที่ควรทำให้ตอม่อสูงกว่าพื้นดินประมาณ 20 เซนติเมตร เพื่อช่วยลดความชื้นจากการสัมผัสของดินกับโครงสร้างเหล็ก
ส่วนต่อมาเป็นการติดตั้งเหล็กแผ่นที่ฐานเสา โดยสามารถทำได้หลายวิธีและมีข้อดีข้อเสียต่างกันดังต่อไปนี้
1. การติดตั้งแบบระบบเชื่อมโดยการเสียบเหล็กในตอม่อ โดยจะเป็นการนำเหล็กเส้นดัดเป็นตัวยู (U) คว่ำ เชื่อมใต้แผ่นเหล็ก ทาสีกันสนิมแล้ววางเสียบในแบบหล่อตอม่อก่อนจะเทคอนกรีตลงไปให้เสมอผิวเหล็ก วิธีนี้ค่อนข้างประหยัด หากแต่ไม่สามารถปรับระดับได้ครับ
2. การติดตั้งแบบใช้โบลท์ตัวเจ คือการฝังเกลียวรูปตัวเจ (J) ในแบบหล่อตอม่อ โดยต้องตรวจสอบทิศทางของเสาให้ถูกต้องก่อน หลังจากเทและบ่มคอนกรีตแล้ว จึงนำแผ่นเจาะรูมาติดตั้ง ปรับระดับหรือหมุนนอตที่รองใต้แผ่นเหล็ก ใส่แหวนด้านบนและขันนอตให้แน่น แล้วจึงเทคอนกรีตพิเศษให้ไหลเข้าไปให้เต็มใต้แผ่นเหล็ก โดยวิธีนี้มีข้อดีตรงที่สามารถปรับระดับได้ครับ
3. การติดตั้งแบบใช้โบลท์เคมี เมื่อหล่อตอม่อแล้ว ใช้เครื่องมือเจาะรูและเป่าให้สะอาด จากนั้นจึงใส่เกลียวพร้อมกับอีพ็อกซี่เพื่อยึดเหล็กกับคอนกรีต บ่ม 8 ชั่วโมงแล้วจึงปรับระดับเหมือนกับโบลท์ตัวเจ แต่การติดตั้งแบบสุดท้ายนี้จะแข็งแรงน้อยที่สุด ดังนั้นควรเลือกใช้แค่กรณีที่จำเป็น เช่น ลืมฝังเหล็ก หรือฝังเหล็กผิดตำแหน่งครับ
ทั้งนี้เพื่อความสบายใจเรื่องความชื้นจากผิวดิน ในส่วนคานโครงสร้างชั้นล่างเรายังสามารถทำการก่อสร้างแบบโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) ทั่วไป จนกระทั่งจบที่พื้นชั้นล่างแล้วเริ่มโครงสร้างเหล็กที่เสาชั้นหนึ่งเป็นต้นไปก็ได้ครับ
ส่วนสุดท้ายของบทความนี้เป็นเรื่องของการติดตั้งเสา การกำหนดทิศทางการตั้งเสาก็เป็นสิ่งสำคัญ การวางเสาควรจะวางเสาให้อยู่ตามด้านกว้างของอาคาร เพราะเสาจะแข็งแรงในทิศทางนี้ และต้องตั้งเสาให้ได้แนวดิ่งทั้งสองด้าน แล้วจึงเชื่อมเสากับเหล็กแผ่น ระหว่างการก่อสร้างควรค้ำยันเสาให้อยู่ในแนวดิ่งเสมอ อีกทั้งไม่ควรนำวัสดุหนักวางพิงโครงสร้าง ในกรณีที่อาคารมีหลายชั้นควรตั้งเสาความยาว 6 , 9 หรือ 12 เมตร ทำการติดตั้งครั้งเดียวแบบไร้รอยต่อ ท่านจะได้โครงสร้างที่แข็งแรงและสวยงามอีกด้วยครับ