สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้ทางเฮ้าส์โมทีฟมีบทความน่าสนใจมาฝากอีกเช่นเคยครับ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้วัสดุเพื่อเปิดมุมมองจากภายในสู่ภายนอกให้ท่านได้สัมผัสธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัวบ้านอย่างใกล้ชิด เรื่องที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นี้ คือ กระจกที่ใช้สำหรับประตู-หน้าต่าง นั่นเองครับ
ทุกวันนี้มีกระจกให้เลือกใช้หลากหลายชนิดมากครับ แต่ละชนิดก็จะให้ความแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่สีของกระจก ความหนา หรือแม้แต่ขั้นตอนการผลิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อคุณสมบัติของกระจกทั้งสิ้น โดยที่ผมเลือกมาเขียนวันนี้มีทั้งหมด 6 ประเภทครับ
1. กระจกโฟลต เป็นกระจกที่มีความโปร่งแสงสูง ผิวเรียบสนิท มีความแข็งแรง โดยทั่วไปมีความหนาตั้งแต่ 2 มิลลิเมตร ไปจนถึง 19 มิลลิเมตร ข้อเสียของกระจกโฟลตคือไม่ทนต่ออุณหภูมิสูง ปริแตกง่ายเสี่ยงต่อความปลอดภัย และหากกระจกแตกจะมีลักษณะเป็นปากฉลามที่มีความแหลมคมครับ กระจกโฟลตแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- กระจกโฟลตใส (Clear Floated Glass) เมื่อนำกระจกโฟลตใสมาใช้เป็นส่วนประกอบของประตู-หน้าต่าง จะช่วยให้แสงสว่างสามารถผ่านได้อย่างเต็มที่ แต่ข้อเสียที่ตามมาคือความร้อนก็สามารถผ่านเข้ามาภายในอาคารได้อย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน โดยค่าส่งผ่านความร้อนนั้นสูงถึง 81% เลยครับ แต่หากพูดถึงข้อดีของกระจกโฟลตใสนั้น คือการมองเห็นสิ่งต่างๆ ผ่านกระจกโฟลตใสจะเป็นสีจริงไม่ผิดเพี้ยน ชัดเจน แต่ก็แลกมากับอีกหนึ่งข้อเสียคือการที่คนภายนอกก็สามารถมองเข้ามาภายในบ้านของท่านได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน ซึ่งท่านสามารถแก้ปัญหาส่วนนี้ ได้ด้วยการติดตั้งผ้าม่าน ที่จะช่วยลดปัญหาเรื่องความร้อนที่ผ่านกระจกได้ด้วยครับ
- กระจกโฟลตสีตัดแสง (Tinted Float Glass) เป็นกระจกตัดแสงประเภทหนึ่งที่ได้จากการผสมโลหะออกไซด์เข้ามาในขั้นตอนการผลิตกระจกโฟลตใส ทำให้กระจกมีคุณสมบัติในการดูดกลืนความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ส่งมากระทบผิวกระจกได้ถึง 35-50% โดยปริมาณแสงที่ทะลุผ่านกระจกขึ้นอยู่กับความหนา สี และความเข้มข้นของสีของกระจก โดยทั่วไปสีที่เราพบเห็นตามอาคารส่วนมาก ได้แก่ สีชา (Grey) สีฟ้า (Blue) สีเขียว(Green) และสีบรอนซ์ (Bronze) ซึ่งข้อดีของกระจกสีตัดแสง คือลดปริมาณความร้อนที่เข้าสู่ภายในอาคารได้ ช่วยให้ท่านประหยัดพลังงานได้อีกหนึ่งทาง รวมถึงช่วยลดความจ้าของแสงที่ส่องผ่านกระจก จึงทำให้เกิดความสบายตาในการมองครับ แต่การมองเห็นผ่านกระจกโฟลตสีตัดแสงนั้นจะได้สีที่ไม่ชัดเจนเท่ากระจกโฟลตใส เนื่องจากการที่มีสีเจืออยู่ในบานกระจกนั่นเองครับ
2. กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass) คือการนำกระจกธรรมดาไปผ่านกระบวนการอบที่ความร้อนสูงประมาณ 650 ºC แล้วนำมาเป่าด้วยลมแรงดันสูงให้เย็นตัวลงทันที เพื่อให้กระจกเกิดความแข็งแกร่งกว่าเดิม 3 – 5 เท่า ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และมีความปลอดภัยมากขึ้น ในกรณีที่กระจกเทมเปอร์เกิดการแตกร้าว จะแตกออกเป็นเม็ดคล้ายเม็ดข้าวโพด ซึ่งมีความแหลมคมไม่มาก ทำให้มีโอกาสเกิดอันตรายน้อยกว่ากระจกธรรมดา กระจกนิรภัยเทมเปอร์จะมีค่าความแข็งแรงต่อแรงดึง และแรงที่ทำให้หักงอ (Bending Strength) เมื่อเปรียบเทียบกับกระจกธรรมดา ที่มีความหนาเท่ากัน ข้อดีของกระจกเทมเปอร์คือทนความร้อนได้สูงถึง 290 ºC โดยที่กระจกไม่แตก ส่วนข้อเสียที่จะเกิดขึ้นเป็นผลมาจากกระบวนการผลิตที่จะทำให้กระจกมีโอกาสเกิดเป็นคลื่น และมีความโก่งตัวเล็กน้อย รวมถึงมีโอกาสปริแตกด้วยตัวเอง โดยมีอัตราการแตกด้วยตัวเองเฉลี่ยถึง 8 แผ่นใน 1,000 แผ่น
3. กระจกลามิเนต (Laminated Glass) จัดเป็นกระจกนิรภัยชนิดหนึ่ง โดยเป็นการนำเอากระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Safe Glass) หรือกระจกธรรมดา (Annealed Glass / Floated Glass) จำนวน 2 แผ่น หรือมากกว่ามาประกบติดกันโดยมีชั้นฟิล์มคั่นกลางระหว่างกระจก เมื่อกระจกเกิดการแตกเศษกระจกจะยังคงยึดติดกันโดยไม่ร่วงหล่น เพราะมีชั้นฟิล์มที่ยึดเกาะระหว่างแผ่นกระจกเหมือนกับใยแมงมุมครับ ข้อดีของกระจกลามิเนตคือ ช่วยป้องกันเสียงรบกวนภายนอก และเก็บเสียงได้ดีกว่ากระจกธรรมดา อีกทั้งช่วยป้องกันความร้อนได้ดี และกันรังสียูวีได้มากกว่า 90 % ทนต่อแรงอัดกระแทก และช่วยป้องการบุกรุกจากการโจรกรรมได้ ข้อเสียและเป็นข้อควรระวังของกระจกลามิเนตเลยคือการที่กระจกปรากฏรอยลูกคลื่นตามแนวรอยบากระหว่างแผ่นกระจก โดยมีศัพท์ที่เรียกว่า Delamination หรือ การแยกตัวของกระจกลามิเนต ส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณขอบกระจก บริเวณรอยบาก หรือขอบที่เจาะรูยึดกับฟิตติ้งในรูปแบบต่างๆ ซึ่งปัญหาลักษณะนี้จะค่อยๆเกิดขึ้นหลังจากใช้งานไปแล้วสักระยะ เนื่องจากฟิล์มที่ใช้คั่นกลางระหว่างกระจกนั้นมีคุณสมบัติดูดความชื้น เมื่อทำ0การติดตั้งกระจกประเภทนี้ในบริเวณที่มีความชื้นสูง จะทำให้การยึดเกาะระหว่างกระจกและฟิล์มไม่ดี ส่งผลให้กระจกที่นำมาประกบกันนั้นเกิดการแยกตัวออกจากกันได้ จึงไม่ควรนำมาใช้กับด้านที่จะต้องสัมผัสกับความชื้นโดยตรงครับ
4. กระจกลามิเนตฮีทสเตร็งเท่น (Heat-Strengthened Laminate Glass) คือ กระจกที่ผลิตด้วยกระบวนการเดียวกับกระจกนิรภัยเทมเปอร์ แต่จะต่างกันที่กระบวนการทำให้เย็นด้วยการเป่าลม จากนั้นจึงนำมาเข้าสู่กระบวนการทำ ลามิเนตเพื่อเพิ่มความปลอดภัย และความแข็งแรง ข้อดีคือให้ความปลอดภัยในการใช้งานได้มากกว่ากระจกแบบทั่วไปถึง 2 เท่า เมื่อกระจกโดนวัตถุกระแทกจนทำให้เนื้อกระจกปริแตก กระจกจะแตกในลักษณะที่รอยแตกวิ่งเข้าไปหาเฟรม ซึ่งจะทำให้กระจกส่วนที่แตกยังคงมีเฟรมโดยรอบ และชั้นฟิล์มลามิเนตที่คั่นอยู่ตรงกลางระหว่างกระจกทั้ง 2 แผ่น คอยยึดเกาะเศษกระจกชิ้นที่แตกเหล่านั้นไว้ จึงไม่ทำให้กระจกที่แตกอยู่บนผนังอาคารร่วงตกลงมา และที่สำคัญเลยคือ ไม่ปริแตกแตกด้วยตัวเอง เหมือนกระจกนิรภัยเทมเปอร์ อีกทั้งยังทนต่อแรงดันของกระแสลมในที่สูงได้ดี เหมาะที่จะใช้เป็นผนังอาคารสูง พื้นกระจก หรือหลังคากระจกครับ แต่มีข้อเสียคือจะไม่สามารถ ตัด เจีย เจาะ บาก ได้ ดังนั้นการวัดพื้นที่จำเป็นต้องวัดอย่างระมัดระวัง และควรใช้หน่วยมิลลิเมตรในการวัดเพื่อความแม่นยำสำหรับการติดตั้งที่สมบูรณ์
5. กระจกเคลือบผิว หรือกระจกสะท้อนแสง (Surface coated glass) เป็นการนำกระจกไปปรับปรุงผิวด้วยการเคลือบโลหะออกไซด์ กระจกประเภทนี้จะมีความเงามันวาว แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
- กระจกสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ ( Solar Reflective Glass) เป็นกระจกที่เคลือบผิวด้วยโลหะออกไซด์ที่มีค่าการสะท้อนแสงสูง จึงมีความโปร่งแสงน้อย ทำให้แสงอาทิตย์และรังสีความร้อนผ่านเข้ามาภายในอาคารได้น้อย กระจกสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์จะช่วยลดค่าการส่งผ่านพลังงานความร้อนเข้ามาภายในอาคารได้ ช่วยให้ประหยัดพลังงาน รวมถึงยังสร้างความเป็นส่วนตัวให้แก่คนภายในอาคาร เนื่องจากคนภายนอกจะมองเข้ามาภายในตัวอาคารได้ลำบาก แต่คนที่อยู่ภายในสามารถมองออกไปได้ดีกว่าครับ
- กระจกที่มีสภาพแผ่รังสีต่ำ ( Low-E Glass) คือกระจกที่ในโลหะออกไซด์มีโลหะเงินบริสุทธิ์เป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งจะช่วยให้สามารถถ่ายเทความร้อน ลดปัญหาเรื่องกระจกแตกร้าวได้ดีเนื่องจากอุณหภูมิผิวกระจกภายนอกและภายในที่มีค่าแตกต่างกันมากเกินไป และข้อดีอีกหนึ่งอย่างที่แตกต่างจากกระจกสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ คือยอมให้แสงผ่านได้มากกว่า ช่วยสะท้อนรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ได้บางส่วนด้วยครับ
6. กระจกฉนวน (Insulation Glass) เป็นกระจกดัดแปลงด้วยกระบวนการต่างๆ เพื่อตอบสนองจุดประสงค์ในการใช้งานเพื่อลดการถ่ายเทความร้อนระหว่างภายในและภายนอกอาคารครับ ส่วนประกอบของกระจกฉนวนนั้นเกิดจากการนำกระจกตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไปมาประกบกัน และมีช่องว่างตรงกลางระหว่างกระจกที่ใช้สำหรับบรรจุสารดูดความชื้นและฉนวน เช่น อากาศแห้ง หรือก๊าซเฉื่อย กระจกฉนวนมีข้อดีที่ สะท้อนความร้อนได้ถึง 80% รวมถึงยังสามารถป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ได้ประมาณ 95%-98% ช่วยประหยัดพลังงานเนื่องจากคุณสมบัติการลดการถ่ายเทความร้อนระหว่างภายในและภายนอกอาคาร ทำให้เครื่องปรับอากาศไม่ต้องทำงานหนัก และลดเสียงรบกวนจากภายนอกได้ด้วยครับ แต่แลกมากับข้อเสียในเรื่องของน้ำหนักกระจกที่จะหนักมากกว่ากระจกทั่วไปเพราะมีความหนามากกว่าครับ